ปรัชญาการศึกษา










1. ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism)
ปรัชญาสารัตถนิยม เป็นปรัชญาการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาจิตนิยม(Idealism)
และปรัชญาสัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นปรัชญาทั่วไป
ปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวจิตนิยม มีความเชื่อถือว่าการศึกษาคือเครื่องมือในการสืบทอดมรดกทางสังคม ซึ่งคือวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทั้งหลายอันเป็นแก่นสาระสำคัญ (Essence) ของสังคมให้ดำรงอยู่ต่อ ๆ ไป ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม และวัฒนธรรม อันเป็นแก่นสำคัญซึ่งสังคมนั้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม สมควรที่จะรักษาและสืบทอดให้อนุชนรุ่นต่อๆ ไป การจัดการเรียนการสอนจะเน้นบทบาทของครูในการถ่ายทอดความรู้และสาระต่าง ๆ รวมทั้งคุณธรรมและค่านิยมที่สังคมเห็นว่าดีงามแก่ผู้เรียน ผู้เรียนในฐานะผู้รับสืบทอดมรดกทางสังคม ก็จะต้องอยู่ในระเบียบวินัย และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ครูถ่ายทอดให้อย่างตั้งใจ
ส่วนปรัชญาสารัตถนิยมตามแนวสัจนิยมนั้น (Stumpf, 1994 : 325-340) เชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอกความรู้และความจริงทางธรรมชาติเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาจึงควรประกอบไปด้วย ความรู้ ความจริง และการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ การจัดการเรียนการสอนตามความเชื่อนี้จึงเน้นการให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และการสรุปกฏเกณฑ์จากข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านั้น





2. ปรัชญาสัจนิยมวิทยา (Paternalism)
ปรัชญานี้บางท่านเรียกว่า ปรัชญานิรันดรนิยม ปรัชญานี้เชื่อว่า โลกนี้มีบางสิ่งที่มีคุณค่า
ถาวร คงที่ และไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังต่อไปสิ่งที่มีคุณค่าถาวรดังกล่าว ได้แก่ ศาสนา ความดี และเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันและในอนาคตตลอดไป
ปรัชญานี้เชื่อว่า (Kneller, 1964 : 107-111) คนมีธรรมชาติเหมือนกัน ทุกคน ดังนั้น การศึกษาจึงควรเป็นแบบเดียวกันสำหรับทุกคน และเนื่องจากมนุษย์มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากสัตว์อื่น คือเป็นผู้สามารถใช้เหตุผล ดังนั้นการศึกษาจึงควรเน้นการพัฒนาความมีเหตุผล และการใช้เหตุผล มนุษย์จำเป็นต้องใช้เหตุผลในการดำรงชีวิตและควบคุมกำกับตนเอง มิใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ การศึกษาเป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิตเป็นสิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์ปรับตัวให้เข้ากับความจริงแท้ที่แน่นอน ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งวัตถุ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแท้ ดังนั้นเด็ก ๆ ควรได้รับการสอนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้เขาได้รู้จักและเรียนรู้ความจริงที่เป็นสัจธรรมไม่เปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ และจิตใจ และวิชาหรือเนื้อหาสาระที่เป็นความจริงแท้ แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เด็กควรจะได้ศึกษาเล่าเรียนคือ “Great Books” ซึ่งประกอบด้วย ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาและดนตรี
การจัดการเรียนการสอนตามปรัชญานี้ (Kneller, 1964 : 112) จึงมุ่งเน้นการสอนให้ผู้เรียนจดจำใช้เหตุผล และตั้งใจกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยผู้สอนใช้การบรรยาย ซักถามเป็นหลัก รวมทั้งเป็นผู้ควบคุม ดูแล ให้ผู้เรียนอยู่ในระเบียบวินัย
การจัดการเรียนการสอนโดยปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระจนเกินไปในการที่จะเลือกเรียนตามใจชอบ เป็นการขัดขวางโอกาสที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาความสามารถที่แท้จริงของเขา การค้นพบตัวเองต้องอาศัยระเบียบวินัยในตนเอง และระเบียบวินัยในตนเองไม่ใช่ได้มาโดยไม่ต้องอาศัยวินัยจากภายนอก ความสนใจในสิ่งที่เป็นความจริงแท้นั้นมีอยู่ในตัวคนทุกคน แต่มันจะไม่สามารถแสดงออกม่ได้โดยง่าย ต้องอาศัยการศึกษาที่ช่วยฝึกฝนและดึงความสามารถเหล่านี้ออกมา






3. ปรัชญาพิพัฒนนิยม (Progressivism)
บางท่านเรียกปรัชญาการศึกษานี้ว่า ปรัชญาพิพัฒนาการ หรือปรัชญาพัฒนาการ ปรัชญานี้มีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาแม่บทคือ ปรัชญา “Pragmatism” หรือปรัชญา “ปฏิบัตินิยม” ซึ่งได้รับแนวคิดมาจาก ชาลส์ เอส เพียช (Charles S. Pierce) และได้รับการเผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้น โดย
วิลเลียมเจมส์ (William James) จนได้รับความนิยมสูงสุดเมื่อ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการศึกษาและในกระบวนการทางกฎหมาย
ปรัชญาปฏิบัตินิยม (Stumpf, 1994 :383-400 and Dewey, 1964: 25-50) ให้ความสนใจอย่างมากต่อการ “ปฏิบัติ” หรือ “การลงมือกระทำ” ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า นักปรัชญากลุ่มนี้ ไม่สนใจหรือไม่เห็นความสำคัญของ “การคิด” สนใจแต่การกระทำเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของปรัชญานี้ก็คือ “การนำความคิดให้ไปสู่การกระทำ” นักปรัชญากลุ่มนี้เห็นว่า ลำพังแต่เพียงการคิดไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดี และการกระทำที่เหมาะสม ดิวอี้ได้นำแนวคิดนี้ไปทดลองและประยุกต์ใช้ในการศึกษา เขาได้เสนอและการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “learning by doing” เขาได้ทดลองให้เด็กเรียนรู้จากการกระทำในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เด็กได้รับอิสระในการริเริ่มความคิดและลงมือทำตามที่คิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนั้น ดิวอี้ ยัได้เน้นความสำคัญของประชาธิปไตย จริยธรรม ศาสนา และศิลปะอีกด้วย ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาตามปรัชญานี้จึงเน้นการปลูกฝังการฝึกฝนอบรมในเรื่องดังกล่าวโดยการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (experience) และเรียนรู้จากการคิด การลงมือทำและการแก้ปัญหาด้วยตนเอง



4. ปรัชญาอัตนิยม (Existentialism)
นักปรัชญาคนสำคัญของปรัชญานี้คือ เคิร์กการ์ด (Kierkegaard) และ ซาร์ต (Sartre) ปรัชญานี้ให้ความสนใจที่ตัวบุคคล หรือความเป็นอยู่ มีอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมักจะถูกละเลย ปรัชญานี้เชื่อว่า ความจริง (truth) เป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ (Stumpf, 1994 : 486) สาระความเป็นจริงก็คือ ความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ (existence) ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญ (essence) ด้วยตนเอง โดยการเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “existential situation” ซึ่งบุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง
การจัดการศึกษาตามปรัชญานี้ (Stumpf,1994 :481-490) จึงให้ความสำคัญกับการให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และสนับสนุนส่งเสริมผู้เรียนในการค้นหาความหมายและสาระสำคัญของชีวิตของเขาเอง ผู้เรียนมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่เรียนตามที่ตนต้องการ มีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจเมื่อเผชิญกับปัญหาและสถารการณ์ต่าง ๆ และรับผิดชอบในการตัดสินใจหรือการกระทำของตน เนื้อหาของหลักสูตรนี้มุ่งไปที่สาระที่จะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจตนเองและเป็นตัวของตัวเอง เช่น ศิลป ปรัชญา การเขียน การอ่าน การละคร ฯลฯ และเน้นการจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล ตัวอย่างของการจัดการศึกษาแบบนี้คือที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) เป็นต้น






5. ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)
ปรัชญานี้เชื่อว่า การปฏิรูปสังคม หรือการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น โดยการช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การจัดระเบียบของสังคม การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และการส่งเสริมประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคม และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
ด้วยเหตุดังกล่าว การศึกษาที่จัดตามปรัชญานี้ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนที่มีต่อสังคมและการปฏิรูปให้สังคมดีขึ้น เนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นสาระที่เกี่ยวข้องกับสภาพและปัญหาของสังคม กระบวนการประชาธิปไตยและประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ส่วนการจัดการเรียนการสอนนั้น จะเน้นการให้ผู้เรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม และเน้นกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมประชาธิปไตย






6. ปรัชญาการศึกษาผสมผสาน (Eclecticism)
เนื่องจากปรัชญาการศึกษาแต่ละปรัชญาล้วนมีแง่มุมและมีจุดเด่นกันไปคนละแบบ จึงเกิดมีการนำเอาประเด็นต่าง ๆ ของปรัชญามากกว่า 1 ปรัชญามาผสมผสานกัน เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ ทำให้เกิดปรัชญาการศึกษาแบบผสมผสานขึ้น ซึ่งไม่มีสาระของตัวเองที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการผสมผสานของแต่ละบุคคล/กลุ่ม ซึ่งโดยปกติแล้วการผสมผสานจะไม่ใช้แนวคิดของปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งทั้งหมด การผสมผสานที่ดี จะต้องมีลักษณะที่กลมกลืน คือประเด็นที่นำมาผสมผสานจะต้องไม่มีความขัดแย้งกัน


สรุป

ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาแม่บทหรือปรัชญาทั่วไปที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต หากบุคคลมีความเชื่อว่า ความจริงของชีวิตเป็นอย่างไรปรัชญาการศึกษาจะจัดการศึกษาพัฒนาคนและพัฒนาชีวิตให้เป็นไปตามนั้น ส่วนการจัดการเรียนการสอนก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักปรัชญาการศึกษานั้น ๆ ดังนั้นการศึกษาเรื่องการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นอย่างไร จึงต้องศึกษาถึงที่มีคือปรัชญาการศึกษาด้วยปรัชญาการศึกษาสากลที่นิยมกันโดยทั่วไปมี 6 แนวด้วยกัน ได้แก่
1. ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ความจริงทางธรรมชาติ
2. ปรัชญาสัจนิยมวิทยา (Paternalism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่าโลกนี้มีบางสิ่งที่มีคุณค่าถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เราควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังต่อไป
3. ปรัชญาพิพัฒนนิยม (Progressivism) ซึ่งเชื่อว่าการดำรงชีวิตที่ดี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดีและการกระทำที่เหมาะสม
4. ปรัชญาอัตนิยม (Existentialism) เป็นปรัชญาที่เชื่อในความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญ (essence) ด้วยตนเอง
5. ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่า การปฏิรูปสังคม เป็นหน้าที่ของสมาชิกของคนในสังคมทุกคน และการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
6. ปรัชญาการศึกษาแบบผสมผสาน เป็นปรัชญาที่ไม่ใช้แนวคิดของปรัชญาใด ปรัชญาหนึ่งทั้งหมด แต่ได้ผสมผสานปรัชญาหลายปรัชญาข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและไม่ขัดแย้งกัน
ส่วนทางด้สนปรัชญาการศึกษาของไทยนั้น ผู้ให้แนวคิดที่สำคัญ ๆ คือ พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุต.โต) ซึ่งได้วิเคราะห์และเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรม ปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรมจากการวิเคราะห์ของสาโรช บัวศรี ซึ่งปรัชญาดังกล่าวสมควรนำมาพิจารณาและใช้ในการวางนโยบาย แนวทางและจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาของประเทศต่อไป และเนื่องจากปรัชญาการศึกษาเป็นที่มาหรือหลักยึดในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนของครู ผู้ผลิตครูจึงควรสอนโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียน (ครูในอนาคต) ได้เรียนรู้หลักการให้แม่น มิใช่มุ่งเน้นแต่เทคนิคของการปฏิบัติเนื่องจากการปฏิบัติและการแก้ปัญหาโดยขาดความรู้ ความเข้าใจและความเชื่อในหลักการแล้ว ย่อมจะเกิดปัญหาในภายหลัง





ปรัชญาการศึกษา on PhotoPeach



ปรัชญาการศึกษา on PhotoPeach